Academia.eduAcademia.edu
ปรัชญามาร์คซิสต์กับสิ่งแวดล้อม เรียบเรียงโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ (จากหนังสือ “อะไรนะลัทธิมาร์คซ์เล่ม๒” ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน ๒๕๔๕) 1.แนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของลัทธิ มาร์คซ์ ข้อกล่าวหาเท็จ Jean-Paul Satre นักคิดชาวฝรั่งเศสในยุค 1968 เคยตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่โจมตีแนวคิดมาร์คซิสต์มักจะบิดเบือนลัทธิมาร์คซ์โดยนำความคิดของคนที่ มาร์คซ์ โจมตีมาอ้างว่าเป็นคำพูดของ มาร์คซ์ เอง เรื่องเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะพวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม“สีเขียว”ในยุคปัจจุบัน หรือนักวิชาการที่อ้างตัวเป็นซ้ายอย่าง Anthony Giddens มักจะกล่าวหาว่า มาร์คซ์ ไม่สนใจปัญหาที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ และพวกนี้มักอ้างว่า มาร์คซ์ “บูชาความทันสมัยของระบบอุตสาหกรรมโดยไม่เห็นข้อเสีย” นอกจากนี้มีคนที่ไม่เคยศึกษาแนวมาร์คซิสต์หลายคนที่อ้างด้วยความมั่นใจว่า มาร์คซ์ กับนักมาร์คซิสต์ทั้งหลายไม่สนใจศึกษาระบบนิเวศน์เพราะสนใจแต่สังคมมนุษย์เท่านั้น วิภาษวิธีและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ความหมายแท้จริงของ “วิภาษวิธี-วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ที่นักมาร์คซิสต์ใช้ในการวิเคราะห์สังคมมนุษย์คือการเน้นเสมอว่าเราต้องมองทุกอย่างเป็นองค์รวมในมิติต่างๆ รวมถึงมิติประวัติศาสตร์ด้วย ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกแห่งวัตถุในยุคต่างๆ คือหัวใจของลัทธิมาร์คซ์ เราไม่สามารถพูดถึงการวิวัฒนาการของมนุษย์ หรือการวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ โดยแยกออกจากผลกระทบซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้ มาร์คซ์ สรุปในหนังสือ The German Ideology ว่า “เรารู้จักวิทยาศาสตร์ชนิดเดียวเท่านั้น นั้นคือวิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ และถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์จะมีสองด้าน คือประวัติศาสตร์ของธรรมชาติ กับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่สองด้านนี้พึ่งพาซึ่งกันและกันและแยกออกจากกันไม่ได้มาตลอด” ด้วยเหตุนี้นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่ยุค มาร์คซ์ ถึงปัจจุบันจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่มองโลกแบบแยกส่วน ไม่ว่าจะเป็นพวกนายทุนที่มองแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อกำไร หรือพวกอนุรักษ์ธรรมชาติที่เกลียดชังเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและแสวงหาแต่ “ธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ปลอดมนุษย์” และเราจะเห็นได้ว่า มาร์คซ์ เองใช้เวลาไม่น้อยในการโจมตีพวกที่บูชาอุตสาหกรรมด้านเดียวเช่น นักคิดแนวอนาธิปไตยที่ชื่อ Proudhon ที่เคยเสนอว่าอุตสาหกรรมและเทคโนโลจีแก้ปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ได้ (ดูข้อเขียนของ มาร์คซ์ ใน The Poverty of Philosophy) การวิวัฒนาการของมนุษย์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าพิจารณาเรื่องของการวิวัฒนาการของมนุษย์จากสัตว์แล้ว เราจะพบว่า มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ ได้อ่านและชื่นชมงานบุกเบิกของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เรื่องการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยที่ มาร์คซ์ กับ ดาร์วินได้เขียนจดหมายถึงกันและแลกเปลี่ยนหนังสือกัน นอกจากนี้ในหนังสือ Anti-Duhring ของ เองเกิลส์ เองเกิลส์ได้ปกป้องแนวความคิดวิภาษวิธีของ ดาร์วิน จากการถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์โดยพวกฝ่ายขวา เพราะพวกฝ่ายขวาในยุคนั้นและยุคปัจจุบันจะเน้นแต่การแย่งชิงกันในธรรมชาติด้านเดียวเพื่อให้ความชอบธรรมกับระบบการกดขี่ขูดรีด และจะไม่มองภาพรวมของการพึ่งพาร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและสิ่งแวดล้อม ในบทความเกี่ยวกับการวิวัฒนาการของมนุษย์จากลิง เองเกิลส์ เสนอว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มนุษย์แยกออกจากสัตว์คือการที่มนุษย์ยืนบนสองขาได้ เพราะการยืนบนสองขาทำให้มือเราถูกปลดปล่อยจากภาระในการเดิน มือจึงนำมาใช้ในการทำงานได้ และความสามารถในการทำงานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ผลักดันการวิวัฒนาการต่อมาของสมอง การวิวัฒนาการของภาษา และการวิวัฒนาการของระบบสังคมมนุษย์ในที่สุด ดังนั้นการทำงานของมนุษย์ ซึ่งต้องนับว่าเป็นการเปลี่ยนโลกแห่งวัตถุที่อยู่รอบตัวเรา มีผลในการก่อกำเนิดของมนุษย์ งานของมนุษย์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” เล่ม ๑ มาร์คซ์ เขียนไว้ว่า “องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับงาน คือมันเป็นกระบวนการระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติตลอดไปในทุกยุคทุกสมัย ในการทำงานมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์เองยังต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเสมอ โดยแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้นมนุษย์มีผลในการเปลี่ยนธรรมชาติซึ่งมีผลสะท้อนกลับมาเปลี่ยนตัวมนุษย์เอง” และ มาร์คซ์ ยังอธิบายต่อไปในหนังสือ “กรุนดิส” ว่า “เราไม่จำเป็นต้องแปลกใจเกี่ยวกับความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเลย แต่สิ่งที่น่าแปลกใจที่เราจำต้องอธิบายคือ ทำไม ในระบบทุนนิยมมนุษย์ถูกบังคับให้แยกตัวออกจากธรรมชาติ” เวลา มาร์คซ์ พูดถึงการที่มนุษย์ถูกบังคับให้ “แยกตัวออก” จากธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในระบบทุนนิยม เขาหมายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรผ่านระบบกลไกตลาดของทุนนิยม ปรากฏการณ์นี้แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติในสองมิติคือ หนึ่ง มนุษย์ส่วนใหญ่ถูกปลดออกจากการเป็นเจ้าของร่วมกันของทรัพยากรธรรมชาติในโลก และ สอง การที่มนุษย์ส่วนน้อย หรือนายทุนนั้นเอง เข้ามาครอบครองทรัพยากรทั้งหมดภายใต้กลไกตลาด ซึ่งทำให้เราไม่สามารถรักษาความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติต่อไปได้ ทั้งนี้เนื่องจากกลไกตลาดไม่สามารถให้ความสำคัญและคุณค่ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และในที่สุดการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากระบบทุนนิยมย่อมมีผลเสียต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ มาร์คซ์ อธิบายว่าในระบบทุนนิยมมีการให้ความสำคัญกับ “มูลค่าแลกเปลี่ยน” เหนือ “มูลค่าใช้สอย” ดังนั้นเราจะเข้าใจได้ดีว่าถึงแม้ว่าธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีมูลค่าใช้สอยมหาศาลต่อมนุษย์ แต่ในระบบการแลกเปลี่ยนแบบกลไกตลาดมูลค่าของธรรมชาติอาจถูกตีว่าไม่มีค่าเลย นี่คือสาเหตุที่ระบบทุนนิยมทำลายธรรมชาติ ต้นกำเนิดรากฐานปรัชญาของมาร์คซ์ ในด้านปรัชญา จุดเริ่มต้นของ มาร์คซ์ คือการศึกษานักปรัชญาชาวกรีกคนหนึ่งชื่อ Epicurus วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ มาร์คซ์ เขียนในช่วงที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยในปี 1841 เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดของ Epicurus ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้คือ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ก่อตัวขึ้นจากความว่างเปล่าหรือการไม่มีตัวตนโดยอาศัยพลังของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะเปลี่ยนไปกลายเป็นความว่างเปล่าที่ไม่มีตัวตนเช่นกัน การมองโลกแบบนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม” และปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกไม่ได้มาจากแผนใหญ่ของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตรงกันข้ามปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติเป็นเรื่องของ “อุบัติเหตุ” ทั้งสิ้น และมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติสามารถมีผลกระทบต่ออนาคตของตนเองได้ ไม่ใช่ว่ามนุษย์จะถูกกำหนดบทบาททุกอย่างหรือจำกัดความสามารถมาจากเบื่องบนหรือ “กรรม” เก่า มาร์คซ์ต่อสู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการผลิตยั่งยืน ในทางปฏิบัติ มาร์คซ์ ได้มีส่วนในการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครองเยอรมันที่ออกกฏหมายจับผิดชาวบ้านที่ไปเก็บฟืนในป่า โดยที่มาร์คซ์อธิบายในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ว่ากฏหมายเหล่านี้ล้วนแต่ให้ประโยชน์กับนายทุนเพราะแยกเกษตรกรคนจนออกจากสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ซึ่งปัญหาการใช้ป่าของชุมชนเป็นเรื่องที่เรายังพบอยู่ทุกวันนี้ในเมืองไทย และสิ่งที่น่าสนใจคือจุดยืนของ มาร์คซ์ ในยุคอดีตตรงกับจุดยืนปัจจุบันของสมัชชาคนจนและองค์กรก้าวหน้าต่างๆ ที่มองว่าชาวบ้านเป็นผู้ที่สามารถร่วมกันอนุรักษ์ป่าได้ดีที่สุดในขณะที่รัฐของนายทุนและนักธุรกิจเป็นผู้ทำลายป่า นอกจากนี้แล้ว มาร์คซ์ ได้ให้ความสนใจอย่างยิ่งกับ “การผลิตแบบยั่งยืน” ที่รักษาความสมดุลระหว่างกิจการของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แต่ มาร์คซ์ ไม่ได้เสนอว่าทางออกคือการย้อนยุคกลับไปสู่อดีต ข้อเสนอของทั้ง มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ คือชนชั้นกรรมาชีพจะต้องยึดปัจจัยการผลิตที่ปัจจุบันตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน และนำปัจจัยเหล่านี้มาเป็นของส่วนรวมที่มนุษย์ทุกคนมีส่วนในการควบคุมได้ ดังนั้นการนำที่ดินและโรงงานต่างๆ มาเป็นของส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จะทำให้มนุษย์สามารถกลับสู่สภาพความสมดุลกับธรรมชาติได้ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ มองว่าการนำเทคโนโลจีทันสมัยมาเป็นทาสรับใช้ของมนุษย์ แทนที่มนุษย์ส่วนใหญ่จะตกเป็นทาสของเทคโนโลจีเหมือนอย่างในปัจจุบัน จะลดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทด้วย เขาเขียนไว้ว่าในหลายบทความ เช่น ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ว่าการยกเลิกความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทคือเงื่อนไขสำคัญในการสร้างชุมชนคอมมิวนิสต์ และในหนังสือ ว่าด้วยทุน เล่ม ๑ มาร์คซ์ เสนอว่าในขณะที่ระบบทุนนิยมทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติผ่านการสร้างเมือง ระบบทุนนิยมได้ก่อให้เกิดชนชั้นกรรมาชีพในเมืองด้วย ซึ่งชนชั้นนี้จะเป็นพลังหลักในการล้มทุนนิยมและการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์อันสมบูรณ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในเรื่องเมืองกับชนบทนี้มีนักมาร์คซิสต์ชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ William Morris ที่เขียนหนังสือนิยายเกี่ยวกับระบบสังคมนิยมในอนาคตชื่อ News From Nowhere ซึ่งเสนอว่าเราจะไม่มี “เมือง” กับ “ชนบท” อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เพราะการแยกสังคมแบบนี้ในระบบทุนนิยมกระทำบนพื้นฐานการแยกมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์และความสมดุลกับธรรมชาติ ดังนั้นในอนาคตมนุษย์จะอยู่กันในชุมชนที่มีลักษณะหลากหลายตามความพึงปรารถนาของแต่ละคน ถ้าจะจับใจความสำคัญของการมองโลกแบบวิภาษวิธีของชาวมาร์คซิสต์แล้วเราต้องสรุปว่า มนุษย์เป็นผู้เปลี่ยนธรรมชาติแต่ทำภายในบริบทของธรรมชาติที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น และมนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนธรรมชาติได้โดยไม่เปลี่ยนตัวเองไปด้วย การทำลายสิ่งแวดล้อมในรัสเซียกับจีน หลายคนอาจมองว่าถึงแม้ว่า มาร์คซ์ หรือ เองเกิลส์ อาจให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ แต่ถ้าไปดูลักษณะความเป็นจริงในประเทศ “สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์” เช่นโซเวียดรัสเซีย หรือจีนเราจะเห็นว่าผู้ที่นำ “ทฤษฏีมาร์คซิสต์” มาใช้ไม่สนใจเรื่องของการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด โดยในอดีตก่อนที่เผด็จการคอมมิวนิสต์จะล่มสลายในปี 1989 รัฐบาลของประเทศเหล่านี้มักจะอ้างเสมอว่าต้องพัฒนาอุตสาหกรรมไปก่อนเพื่อแก้ความยากจนของพลเมือง แต่ถ้าเราเข้าใจว่าสังคมรัสเซียหรือจีนภายใต้การปกครองแบบเผด็จการสตาลินนิสต์ของพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” แบบมาร์คซิสต์ แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของทุนนิยมที่เรียกว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” เราจะเข้าใจว่าทำไมประเทศเหล่านั้นมีปัญหา “ทุนนิยมโดยรัฐ” เป็นระบบกดขี่ขูดรีดกรรมาชีพที่เกิดขึ้นในยุคของสตาลินและต่อมาในยุคของ เหมา เจ๋อ ตุง ภายหลังความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียในปี 1928 ในระบบนี้ผู้ที่ทำตัวเป็นชนชั้นนายทุนคือข้าราชการของพรรคคอมมิวนิสต์ และ“นายทุนรัฐ”เหล่านี้จะขูดรีดกรรมาชีพและชาวนาเพื่อเป้าหมายเดียวเท่านั้น นั้นคือผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตกเพื่อให้ประเทศชาติเป็นมหาอำนาจ ดังนั้นในขณะที่รัสเซียหรือจีนผลิตอาวุธทันสมัยได้ ประชาชนจะอดอยากและทรัพยากรธรรมชาติจะถูกนำมาใช้โดยไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใดเลย นโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติของพรรคบอลเชอวิค แท้ที่จริงแล้ว ในยุคแรกๆ ของการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ก่อนที่สตาลินจะขึ้นมาปกครองประเทศ เลนิน ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญของพรรคบอลเชอวิค ได้ให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เลนินตั้งข้อสังเกตในงานเขียนของเขาว่าระบบทุนนิยมทำให้น้ำเสียจากเมืองทำลายแม่น้ำต่างๆ ในขณะที่เราอาจใช้น้ำเสียเป็นปุ๋ยในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของชนบทได้ หลังการปฏิวัติปี 1917 รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียได้ก่อตั้งเขตสงวนธรรมชาติขึ้นมาในปี 1920 ซึ่งเป็นเขตสงวนแห่งแรกของโลกที่นำมาใช้ในการวิจัยทางนิเวศน์วิทยา รัฐบาลได้ส่งเสริมการวิจัยทางนิเวศน์วิทยา โดยมีนักชีววิทยาเด่นๆ ชื่อ Vernadsky และ Vavilov สองคนนี้ได้นำทางในการเสนอเรื่องความสำคัญของการมองภาพรวมในการอนุรักษ์โลก และความสำคัญในการรักษาความหลากหลายของพันธ์พืชและพันธ์สัตว์ ในเยอรมัน โรซา ลัคแวมเบอร์ค ผู้นำพรรคมาร์คซิสต์คนสำคัญในยุคเดียวกัน ก็พูดถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างการทำลายวิถีชีวิตของเผาชนกลุ่มน้อยกับการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของจักรวรรดินิยมทั่วโลก ถ้าเราพิจารณาแต่ละประเด็นที่นักมาร์คซิสต์เหล่านี้สนใจจะเห็นได้ว่าทุกประเด็นยังมีความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยทุกวันนี้ เราสร้างแนวร่วม “แดง-เขียว” ได้หรือไม่? มีนักเคลื่อนไหวในสังคมไทยไม่น้อยที่อยากเห็นการสร้างแนวร่วมระหว่างนักมาร์คซิสต์(แดง) กับ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(เขียว) และถ้าเราพิจารณาประวัติแนวความคิดมาร์คซิสต์ที่เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเราน่าจะสร้างแนวร่วมแบบนี้ได้ง่าย แต่เราต้องพิจารณาเงื่อนไขบางอย่างก่อน แนวความคิดมาร์คซิสต์ดั้งเดิมที่ไม่ถูกบิดเบือนโดยลัทธิสตาลินจะให้ความสำคัญกับความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติมาตลอด แต่แนวสตาลินจะนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมในระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ดังนั้นคนที่อยากนำทฤษฏีมาร์คซิสต์มาใช้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะต้องปฏิเสธแนวคิดแบบ สตาลิน-เหมา หรือ แนวคิดแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่อาศัยความคิดสตาลิน-เหมา แนวความคิดสีเขียวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มีหลายแนว บางแนวที่เกลียดชังเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและพยายามแยกมนุษย์ออกจากสิ่งแวดล้อม เช่นแนวที่เสนอว่าต้องอนุรักษ์ป่าโดยขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า หรือแนวที่ต้องการขับไล่ชนกลุ่มน้อยออกจากที่อยู่อาศัยบนดอยเพื่อรักษาธรรมชาติให้ “คนไทย” ล้วนแต่เป็นแนวปฏิกิริยาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อกรรมาชีพและชาวนายากจนแต่อย่างใด เพราะในที่สุดจะนำพาเราไปกราบไหว้ผลประโยชน์นายทุนในระบบทุนนิยม แนวคิดที่อยากย้อนยุคกลับไปสู่ความเพ้อฝันเกี่ยวกับ “ยุคทองของชนบท” ในอดีต โดยการปฏิเสธวิทยาศาสตร์และเทคโนโลจีสมัยใหม่ก็ไม่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่เช่นกัน เพราะแนวนี้จะเสนอว่าเราไม่มีสิทธิ์ใช้ ไฟฟ้า เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย หรือยารักษาโรคที่ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ แนวนี้จะไม่เข้าใจว่าการใช้เทคโนโลจีหรืออุตสาหกรรมจะเกิดผลดีหรือผลเสียขึ้นอยู่กับวิธีใช้และระบบการควบคุมมากกว่าตัวเทคโนโลจีหรือวิทยาศาสตร์เอง แนวสีเขียวที่มุ่งหวังแต่ที่นั่งในคณะรัฐมนตรีโดยคิดจะปฏิรูปทุนนิยมจากภายในกลไกรัฐทุนนิยมเพื่อให้ระบบปัจจุบันรักสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นพรรคกรีนในเยอรมันหรือนิวซีแลนด์ จะสร้างความหวังไว้กับกรรมาชีพและชาวนา แต่ในที่สุดจะประนีประนอมกับอำนาจบริษัทข้ามชาติและรัฐของนายทุนในนามของ “การยอมรับสภาพความเป็นจริง” ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันพรรคกรีนในเยอรมันได้ยกเลิกนโยบายต่อต้านการผลิตพลังไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ และยกเลิกนโยบายที่เคยปฏิเสธการใช้ทหารแทรกแซงในประเทศอื่น “เพื่อการรักษาความสามัคคีในคณะรัฐมนตรี” ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยืนอยู่ข้างคนจน เข้าใจจุดดีจุดเสียของระบบทุนนิยม เข้าใจว่าสังคมปัจจุบันถูกแบ่งแยกตามชนชั้น และเข้าใจว่าเราควรรวมพลังเพื่อต่อต้านระบบทุนนิยม จะเป็นแนวร่วมกับขบวนการมาร์คซิสต์ที่ดี ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้ในการเขียนบทความนี้ได้จากหนังสือ “MARX’S ECOLOGY: materialism and nature” โดย John Bellamy Foster (รองศาสตราจารย์วิชาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัย Oregon สหรัฐอเมริกา) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Monthly Review Press, 2000. 2. กรรมพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อม? โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ วิทยาศาสตร์และการเมือง ถ้ามองผิวเผินเราอาจคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่อิสระจากการเมืองหรือชนชั้นก็ได้ เพราะหลักการวิทยาศาสตร์เริ่มจากการสังเกตโลกจริง หลังจากนั้นมีการตั้งข้อสมมุติฐานหรือทฤษฎีเพื่อใช้งาน และในที่สุดสมมุติฐานหรือทฤษฎีต่างๆ จะถูกทดสอบด้วยการปฏิบัติในโลกจริง ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะขึ้นกับว่านักวิทยาศาสตร์เป็นคนฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย หรือไม่สนใจการเมือง แต่น่าจะขึ้นอยู่กับสภาพที่ดำรงอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่เมื่อเราวิเคราะห์ลึกลงไปเราจะพบว่าวิทยาศาสตร์ถูกเบี่ยงเบนทางการเมืองในสองลักษณะดังนี้คือ 1) วิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่มนุษย์นำไปใช้ในทางปฏิบัติ ดังนั้นการเลือกใช้ หรือการใช้หรือไม่ใช้ส่วนไหนของวิทยาศาสตร์ และการตีความทฤษฎีวิทยาศาสตร์ มักจะได้รับอิทธิพลมาจากผลประโยชน์ทางชนชั้นหรือแนวคิดทางการเมืองของผู้ใช้วิทยาศาสตร์ เช่นในยุคนี้มีการพูดกันในหมู่ฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมว่า “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” เช่นการลักขโมย การคิดกบฏ หรือการรักเพศเดียวกันเป็นต้น "มาจากกรรมพันธุ์" ซึ่งหมายความว่าการประพฤติของมนุษย์ถูกกำหนดมาจาก genes(“จีน”) ในเซล(cells)ต่างๆ ของร่างกายเรา แต่ในมุมกลับฝ่ายซ้ายแย้งว่า ในประการแรก การรักเพศเดียวกัน หรือการคิดกบฏไม่ใช่พฤติกรรมเบี่ยงเบน และในประการที่สองปัญหาการลักขโมยและปัญหาอื่นๆเกิดจากสภาพสังคมมากกว่าการที่คนใดคนหนึ่ง “ชั่ว” มาตั้งแต่กำเนิด 2) ในสังคมปัจจุบันชนชั้นปกครองที่ควบคุมทรัพยากรที่ต้องใช้ในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์มักจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการวิจัย ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน และยิ่งกว่านั้นผลการวิจัยที่ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้ให้ทุนอาจถูกมองข้ามหรือตัดทิ้งไปก็ได้ เช่น เงินทุนสำหรับการผลิตและพัฒนาอาวุธมักจะมีมากมาย แต่เงินวิจัยเพื่อหาทางแก้ปัญหาพื้นฐานสำหรับคนจนมักจะไม่ค่อยมี และเมื่อบริษัทข้ามชาติที่ผลิตและค้ายาทำการวิจัยก็มุ่งหวังแต่กำไร ไม่ได้หวังแก้ปัญหาสำหรับพลเมืองโลกที่ส่วนใหญ่ยากจนแต่อย่างใด ที่ร้ายสุดคือบางครั้งเมื่อการวิจัยพบว่ายาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่อันตรายบริษัทดังกล่าวจะปกปิดผลการวิจัยด้วย สรุปแล้วในสังคมชนชั้นปัจจุบัน มีสิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์ของเขา” และ “วิทยาศาสตร์ของเรา” และเป้าหมายของชาวสังคมนิยมคือการนำวิทยาศาสตร์มารับใช้ชนชั้นกรรมาชีพและคนส่วนใหญ่ของสังคม พูดง่ายๆ เราต้องนำวิทยาศาสตร์มาเป็นของเรา ชีวะวิทยากับการเมือง การค้นพบทฤษฎีสำคัญใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์มักนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดการเมืองเป็นประจำ กาลิเลโอ เคยถูกสถาบันศาสนาประณามเพราะเสนอว่าโลกเราหมุนรอบดวงอาทิตย์ซึ่งขัดกับคำสอนทางศาสนา ในลักษณะเดียวกันทฤษฎีการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต (Theory of Evolution) ของ ดาร์วิน (Darwin) ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและการถกเถียงไม่น้อยในหมู่ชาวคริสต์ที่เชื่อเรื่องการสร้างโลกโดยพระเจ้า แม้แต่ ดาร์วิน เองก็นับถือศาสนาและไม่ค่อยสบายใจกับข้อสรุปของตนเอง ดาร์วิน เชื่อว่าพันธ์ต่างๆ ของพืชหรือสัตว์ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ได้ถูกคัดเลือกจากธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าพระเจ้าสร้างขึ้นมาแบบนั้น โดยที่พันธ์ต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมในยุคใดยุคหนึ่งหรือในภูมิภาคหนึ่งจะสูญพันธ์ไป แต่ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของ genes ระหว่างรุ่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นสิ่งที่ขยายความหลากหลายของเผ่าพันธ์พืชสัตว์ต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ในยุคนี้ นอกจากสายคริสต์สุดขั้วบางกลุ่มในสหรัฐที่ไม่ยอมเชื่อทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน ประเด็นถกเถียงในเรื่องนี้ได้พัฒนาไปสู่การถกเถียงกันระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายว่าอะไรสำคัญกว่ากันในการกำหนดลักษณะความเป็นมนุษย์ กรรมพันธุ์ หรือ สิ่งแวดล้อม? นักชีวะวิทยาที่มีความคิดทางการเมืองแบบขวา เช่น Richard Dawkins (เช่นในหนังสือ The Selfish Gene เป็นต้น) จะมองว่ากรรมพันธุ์หรือ genes กำหนดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสีผม หรือพฤติกรรม ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง โดยเฉพาะเวลาเรามาพิจารณาปัญหาสังคมเพราะเป็นการโทษมนุษย์แต่ละคนสำหรับสิ่งที่เขากระทำโดยไม่ต้องพิจารณาสภาพสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เช่นมีการเสนอว่าอาชญากรร้ายๆ มี genes ชนิดหนึ่งที่ทำให้เขาฆ่าคน ไม่ใช่ว่าอาชญากรรมมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือการที่มนุษย์ถูกแปลกแยกจากชีวิต ดังนั้นแนวนี้จะสรุปว่าเราไม่ต้องโทษระบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ การขูดรีด หรือระบบการปกครองที่กดขี่คนส่วนใหญ่ แต่ควรโทษตัวบุคคลแทน ซึ่งคล้ายกับนโยบายรัฐบาลไทยในปัจจุบันที่โทษคนเพราะใช้หรือขายยาบ้าโดยไม่พูดถึงสาเหตุที่คนใช้ยาเสพติดแต่อย่างใด นอกจากนี้นักชีวะวิทยาฝ่ายขวาอย่าง Dawkins จะเสนอว่าการที่สัตว์ต่างๆ แย่งกันผสมพันธ์หรือกัดกันฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร "พิสูจน์" ว่าสงครามคือ "ธรรมชาติ" ของมนุษย์ และระบบทุนนิยมสอดคล้องกับธรรมชาติอันนี้ โดยที่สำนักคิดแบบ Dawkins จะหยิบยกทฤษฎีวิวัฒนาการของ ดาร์วิน มาเป็นข้ออ้างเสริม เพราะเขาจะตีความว่าทฤษฎีของ ดาร์วิน เมื่อนำมาใช้กับสังคมมนุษย์น่าจะระบุว่าผู้ที่เป็นผู้นำหรือชนชั้นปกครองดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพราะถูกคัดเลือกมาตาม "ธรรมชาติ" เนื่องจากความสามารถ ความกล้า หรือความฉลาด ของผู้นำดังกล่าว ข้อเสนอของสำนักคิดฝ่ายขวามีจุดอ่อนสำคัญสองประการคือ 1) ความเป็น "ธรรมชาติ" เป็นเรื่องสลับสับซ้อน เราอาจแย้งได้ว่า "ธรรมชาติ" ของมนุษย์ต่างกับ "ธรรมชาติ" ของสัตว์ส่วนใหญ่ตรงที่จุดเด่นของมนุษย์ ที่เราได้จากการวิวัฒนาการมาจากสัตว์อื่น คือความสามารถของเราที่จะร่วมมือกันในสังคมอย่างสมานฉันท์ เพราะการร่วมมือกันใช้สมองและปัญญาในการเลี้ยงชีพแบบสังคมส่วนรวมเป็นวิธีการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่ไม่มีเขี้ยวหรือเกราะป้องกันตัวตามร่างกายเหมือนสัตว์บางชนิด ดังนั้นเราอาจอ้างกลับได้ว่ามนุษย์ถูกคัดเลือกให้ร่วมมือกันมากกว่าแย่งชิงกันก็ได้ 2) การสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เพื่อเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับสังคมมนุษย์เป็นวิทยาศาสตร์แบบแย่ๆ เลวๆ และเป็นการสร้างทฤษฎีเพื่อรองรับแนวคิด ไม่ใช่การนำโลกจริงมาทดสอบทั้งทฤษฎีและแนวคิดการเมือง ถ้าจะสร้างทฤษฎีวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสังคมมนุษย์เราควรศึกษาสังคมมนุษย์เป็นหลัก และถ้าเราศึกษาสังคมมนุษย์เราจะพบว่า 95% ของประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นประวัติศาสตร์ในยุคที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีสงคราม และไม่มีการกดขี่ทางเพศฯลฯ ประวัติศาสตร์ในช่วงทุนนิยมเป็นเพียงเศษ "วินาที" เดียวของประวัติศาสตร์ทั้งหมดของเรา คือเพียง 200 ปีเท่านั้น (Leakey & Lewin 1992) ดังนั้นการอ้างว่าทุนนิยมสอดคล้องกับ "ธรรมชาติ" มนุษย์ไม่ค่อยมีน้ำหนัก 3) การใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินมาอธิบายสังคมมนุษย์เป็นการใช้ทฤษฎีนี้ในทางที่ต่างกับเจตนาเดิมของทฤษฎี เพราะดาร์วินกำลังพยายามอธิบายสาเหตุที่พืชและสัตว์มีลักษณะแตกต่างกันอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ดาร์วิน ไม่เคยอ้างว่าทฤษฎีนี้ควรใช้อธิบายสังคมมนุษย์ทั้งๆ ที่อาจอธิบายเรื่องอื่นเกี่ยวกับมนุษย์ได้ เช่นสีผิว หรือเรื่องอื่นเกี่ยวกับร่างกาย คนที่เข้าใจวิธีการของวิทยาศาสตร์จะเข้าใจว่าทุกทฤษฎีมีขีดจำกัดที่มาจากเป้าหมายในการสร้างทฤษฎีแต่แรก ไม่ใช่ว่าทุกทฤษฎีใช้อธิบายทุกอย่างได้ พูดง่ายๆ การใช้ทฤษฎีดาร์วินเพื่ออธิบายสังคมมนุษย์เหมือนกับการใช้ช้อนในการขุดดิน ส่วนใหญ่พวกนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายขวาอย่าง Dawkins มักจะใช้ทฤษฎีของดาร์วินและทฤษฎีชีวะวิทยาอื่นๆ ในทางที่ผิดเพื่อให้ความชอบธรรมแก่ระบบทุนนิยมหรือความคิดแบบอนุรักษ์นิยม สำนักคิดนี้เรียกรวมๆ ว่าแนว Social Darwinism ตัวอย่างที่ดีของนักการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ใช้ชีวะวิทยาในการสนับสนุนผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองคือ ลีกวนยู ในสิงคโปร์ เขาพยายามเสนอว่าคนอย่างเขาได้ขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครองเพราะเขาฉลาดและมีความสามารถตามธรรมชาติเหนือมวลชนผู้โง่เขลา ลี เสนอต่อไปว่าชาวสิงคโปร์ควรเป็นห่วงเมื่อเห็นปัญญาชนสิงคโปร์ที่จบปริญญาสูงๆ แต่ไม่ยอมแต่งงานและมีลูก เพราะในไม่ช้าสิงคโปร์จะเต็มไปด้วยลูกหลานของกรรมกรที่ไม่มีปัญญาและประเทศชาติจะไม่เจริญ "นักวิทยาศาสตร์ของชนชั้นปกครอง" คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ยุคอดีตคือ Thomas Malthus ผู้เขียนหนังสือ "Essay on the Principle of Population" ในปี 1798 เขาเสนอว่ามี "กฎเหล็กแห่งธรรมชาติ" ที่ระบุว่าการผลิตอาหารจะขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่าการผสมพันธ์ผลิตลูกของมนุษย์ ข้อสรุปของ Malthus คือเราไม่อาจหลีกเลี่ยงความอดอยากได้ ดังนั้นการช่วยเหลือคนจนเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรเปล่าๆ และยิ่งทำให้คนจนมีลูกมากขึ้นด้วยซ้ำไป ในยุคนี้ทฤษฎีของ Malthus ถูกพิสูจน์ว่าไม่มีความจริงแต่อย่างใดและเป็นแค่วิทยาศาสตร์แบบเลวๆ ที่สร้างทฤษฎีมารองรับแนวคิดทางการเมืองที่เกลียดชังคนจนเท่านั้น ในยุคปัจจุบันมีการวิเคราะห์ส่วนประกอบของ genes ในร่างกายสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างละเอียด โดยมีการสกัดสาร D.N.A. ใน genes มนุษย์เพื่อดูว่าเรามี genes อะไรบ้าง (เช่น Human Genome Project) นักวิทยาศาสตร์และบริษัท bio-technology ที่ทำการวิจัยแบบนี้มักจะอ้างเสมอว่า "ถ้าเรารู้ว่าเรามี genes อะไร เราจะเข้าใจทุกแง่ของมนุษย์และรักษาทุกโรคได้" แถมพวกนี้ยังมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในองค์ความรู้ตรงนี้ที่ควรจะเป็นทรัพย์สินส่วนรวม โดยหวังผลกำไรมหาศาล นี่คือตัวอย่างของ "วิทยาศาสตร์ของชนชั้นนายทุน" วิภาษวิธีของ "วิทยาศาสตร์ฝ่ายเรา" การที่นักวิทยาศาสตร์ฝ่ายนายทุนอ้างบางอย่างเกินเหตุหรือไม่เข้าใจลักษณะแท้เกี่ยวกับชีวะวิทยาของมนุษย์และสังคมมนุษย์ ไม่ใช่เพราะเขาโง่ แต่เป็นเพราะแนวคิดทางการเมืองและผลประโยชน์ทางชนชั้นมีอิทธิพลเหนือการแสวงหาความจริง นักวิทยาศาสตร์ฝ่ายซ้าย เช่น Lewontin (1993), Lewontin, Rose & Kamin (1984) หรือ Stephen Jay Gould (1991) อธิบายว่าการถกเถียงว่าอะไรสำคัญกว่ากัน กรรมพันธุ์ หรือ สิ่งแวดล้อม? เป็นการถกเถียงแบบกลไกแยกส่วน ในความเป็นจริงมนุษย์ไม่สามารถแยกตัวออกจากสิ่งแวดล้อมได้ และเราไม่สามารถแยกผลของ genes หรือ D.N.A. ออกจากส่วนประกอบอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของเราได้ แม้แต่การกำหนดว่าส่วนไหนของ D.N.A. จะใช้เป็นแม่แบบในการผลิตโปร์ตีนก็ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก genes เช่น cytoplasm ใน cell หรือสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละคน ดังนั้นถ้าจะเข้าใจบทบาทของกรรมพันธ์กับร่างกายมนุษย์เราต้องมองภาพรวมที่ส่วนต่างๆมีผลกระทบซึ่งกันและกัน นี้คือความหมายของชีวะวิทยาแบบวิภาษวิธี สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ว่านักชีวะวิทยาฝ่ายทุนมองกรรมพันธุ์แบบแยกส่วนและกลไกจนไม่สามารถอธิบายโลกจริงได้ คือจำนวน genes ในร่างกายมนุษย์ เดิมทีพวกนี้จะมองว่ามนุษย์ต้องมี genes ในจำนวนมากเพราะเขาเชื่อว่า genes กำหนดทุกแง่ของความสลับสับซ้อนของมนุษย์ แต่ปรากฏว่าเมื่อวิเคราะห์ดูจะพบว่ามนุษย์มี genes ในจำนวนพอๆ กับแมลงวัน! ข้อมูลนี้ชี้ให้เราเห็นว่าหลายต่อหลายแง่ของความเป็นมนุษย์ไม่ได้กำหนดโดย genes แต่ฝ่ายเดียว ปัญหาของพืชพันธ์ G.M.O. ก็เช่นเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ที่รับใช้บริษัทค้าขายทางเกษตรอ้างเสมอว่าพืช G.M.O. จะแก้ปัญหาความอดอยาก และจะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดกับมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม แต่ในประการแรก ความอดอยากในสังคมปัจจุบันไม่ใช่เรื่องเทคโนโลจีเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องการจัดการในระบบทุนนิยมที่ล้มเหลวมากกว่า และในประการที่สอง ถ้านักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ทดลองปลูกพืช G.M.O. ในสภาพโลกจริง ในท้องนาใหญ่ๆ เป็นเวลานานๆ เราไม่มีวันทราบได้เลยว่า genes ใหม่ของพืช G.M.O. จะมีผลรอบด้านต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และสิ่งแวดล้อมจะมีผลต่อ genes ใหม่ๆ ของพืชเหล่านั้นอย่างไรด้วย เพียงการทดลองปลูกในแปลงเล็กๆ ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย จริงๆ แล้วนักกรรมพันธุ์น่าจะเข้าใจสิ่งนี้ แต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาลได้เข้ามาปิดบังความจริง ชาวมาร์คซิสต์จะรู้ว่ามนุษย์มีลักษณะบางอย่างที่เป็นเรื่องเฉพาะปัจเจกระดับหนึ่งและ genes มีส่วนในการกำหนดตรงนี้ แต่ผลโดยรวมในรูปแบบพฤติกรรมหรือสภาพร่างกายมาจากการผสมกันระหว่างปัจจัยร่างกายกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมเสมอ ไม่มีพฤติกรรมไหนของมนุษย์ที่กำหนดจาก D.N.A. มาอย่างหยาบๆ และเกือบจะไม่มีโรคอะไรเลยที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม ชาวมาร์คซิสต์มองว่าปัจจัยภายในร่างกายเรา บวกกับปัจจัยจากภายนอกรอบตัวเรา เป็นสิ่งที่ผลักดันการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในมีผลกระทบต่อกันซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก พูดง่ายๆ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนมนุษย์ สัตว์ และพืช แต่มนุษย์ สัตว์ และพืชก็เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ที่สำคัญคือมนุษย์มีความสามารถทางปัญญาที่จะเปลี่ยนปัจจัยภายนอกได้ในทางที่เป็นประโยชน์ เราปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ เราปฎิวัติเปลี่ยนระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจได้ เราไม่ใช่ทาสของ genes ในร่างกายเรา หรือทาสของสิ่งแวดล้อม เหมือนกับที่นักชีวะวิทยาฝ่ายขวาเสนอ นักมาร์คซิสต์ยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการของ ดาร์วิน โดยไม่มีเงื่อนไข แม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ เองก็เคยแสดงความยินดีกับ ดาร์วิน เมื่อผลงานเขาแรกออกมา แต่เราปฏิเสธการใช้ทฤษฎี ดาร์วิน ในทางที่ผิดเจตนาเพื่อ "พิสูจน์" ว่าระบบทุนนิยมคือ "ธรรมชาติมนุษย์" ยิ่งกว่านั้น ในความจริงเรายังสงสัยอีกว่า "ธรรมชาติบริสุทธิ์" ที่ไม่มีผลจากการกระทำของมนุษย์ สัตว์ หรือ พืช มีจริงหรือไม่ เรามองว่าทฤษฎีกรรมพันธ์ของ Mendel มีประโยชน์เพราะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเข้าใจ genes แต่เราปฏิเสธว่า genes กำหนดทุกอย่าง ตัวอย่างของการใช้หลักวิทยาศาสตร์แบบวิภาษวิธีและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในการอธิบายการวิวัฒนาการของมนุษย์พบได้ในงานของเองเกิลส์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ Stephen Jay Gould (1993) เคยอธิบายบ่อยครั้งว่ามนุษย์ไม่ใช่จุดสุดยอดแห่งการวิวัฒนาการของสัตว์ จุดสุดยอดในการวิวัฒนาการไม่มีจริง เพราะการวิวัฒนาการไม่ได้เกิดขึ้นตามแผนของพระเจ้าองค์ใด การวิวัฒนาการเกิดจากอุบัติเหตุทาง "ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ" และผลกระทบหรือความขัดแย้งระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่ดำรงอยู่ตลอดไปเท่านั้น ปัญหาของระบบก่อนทุนนิยมคือมนุษย์เป็นทาสของธรรมชาติ ปัญหาของทุนนิยมคือชนชั้นนายทุนอ้างว่ามนุษย์ขึ้นมาเป็นเจ้านายของธรรมชาติได้ทั้งๆ ที่เจ้านายแท้ในทุนนิยมคือกลไกตลาดและกำไร เป้าหมายของสังคมนิยมคือการสร้างสังคมมนุษย์เพื่อให้เราทุกคนสามารถกำหนดชีวิตและอนาคตของเราเองได้ภายใต้ความเข้าใจว่าเราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติโลกที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ในระบบทุนนิยมวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่รับใช้ผลประโยชน์คนส่วนน้อย ในสังคมนิยมวิทยาศาสตร์จะต้องรับใช้คนส่วนใหญ่โดยไม่มีการปกปิดเบี่ยงเบนความจริง หนังสืออ้างอิง Dawkins, R. (1982) The Selfish Gene. Paladin Press,U.K. Gould, S. J. (1991) Wonderful Life. Penguin Books. Leakey, R. & Lewin R. (1992 ) Origins Reconsidered. In Search of What Makes Us Human. Little, Brown and Company, U.K. Lewontin, R. C., Rose, S. & Kamin, L. J. (1984) Not in Our Genes. Pantheon Press, New York. Lewontin, R. C. (1993) The Doctrine of D.N.A. Biology as Ideology. Penguin Books. 12